++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การให้ผลของกรรม (1) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)


ก.ผลกรรมในระดับต่างๆ

ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือ การให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย

ความจริง ปัญหาเช่นนี้ เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่าง กรรมนิยามกับ สมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขตและขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว" นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน

แทนที่จะเข้าใจความหมายของ "ทำดีได้ดี" ว่าเท่ากับ ทำความดี ได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน

จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ...

1.ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ คือกุศลธรรมและอกุศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุข-ความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง

2.ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมทำให้เกิดผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติ การแสดงออก ท่าที การวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไปอย่างไรบ้าง

การให้ผลระดับนี้ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ 1 นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น

3.ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่าง ๆ ที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้าน คือ...

- ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่น ๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน

- ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม

4.ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง เช่นทำให้เกิดความเสื่อม ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำต่อสภาพแวดล้อมอื่น ๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง

จะเห็นได้ชัดว่า ผลในระดับที่ 1 และ 2 คือผลภายในจิตใจ และบุคลิกภาพ เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามเป็นใหญ่ ระดับที่ 3 เป็นขอบเขตที่กรรมนิยามกับสมมตินิยามเข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุดที่มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งควรพิจารณาในที่นี้ ส่วนระดับที่ 4 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาในหัวข้อนี้

คนทั่วไป เมื่อมองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือเพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่ อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ 3 คือความเป็นไปในชีวิต ส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ 1 และ 2 ไปเสีย ทั้งที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละ มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน ความพร้อม ความแก่หรืออ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น และสำคัญทั้งในแง่เป็นที่มาแหล่งใหญ่ของผลในระดับที่ 3 ด้วย

ขยายความว่า ผลในระดับที่ 3 นั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของกรรมนิยาม ก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และ 2 นั่นเอง เช่น สภาพจิตใจของบุคคลผู้นั้นเอง คือความสนใจ ความนิยมชมชอบ ความโน้มเอียง แนวทางแสวงสุข หรือระบายทุกข์ภายในของเขา ซึ่งเป็นผลของกรรมในระดับที่ 1 ก็จะชักนำให้เขามองสิ่งนั้นเรื่องนั้นในแง่นั้นๆ นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้น ๆ ตอบสนองอย่างนั้น ๆ จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้น ๆ ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้น ๆ ให้ได้พบประสบการณ์ หรือประสบผลอย่างนั้น ๆ และให้มีความรู้สึกหรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้น ๆ เป็นต้น...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น