++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สังคม...



สังคมไทยตกอยู่ภายในสภาวะแห่งการวิจารณ์ และการแสดงความคิดเห็นต่อทุกเรื่องโดยต่อเนื่องมาพักใหญ่แล้ว ที่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาสังคมให้ทันสมัย ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อปรากฏการณ์ทุกอย่าง

การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ นั้น มาพร้อมกันกับสภาวะของความไม่พอใจในสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น ที่ตามหลักพุทธก็คือ ภวตัณหา และ วิภวตัณหา ประมาณนั้น

ตัณหานี้คงไม่ใช่แต่เพียงเรื่องส่วนบุคคล เช่น สภาวะความมี ความเป็นของบุคคล แต่ยังรวมถึงการที่คนคนหนึ่ง รู้สึกต่อสภาวะสังคมโดยรวม จนนำมาเก็บเป็นทุกข์ไปด้วย

อาการที่เห็นได้ชัดเจนประเภทหนึ่งคือ อาการที่บ่นมาก ๆ กับสภาวะแวดล้อมเช่น ประเทศและสังคมและรัฐบาลทำงานไม่ทันใจ ไม่เป็นไปตามหลักการต่าง ๆ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพอย่างที่ตนเองต้องการ บ่นไปบ่นมาที่สุดก็อยู่ในสภาพแห่งทุกข์กันไปเรื่อย

นึกถึงเรื่องนี้แล้ว ทำให้นึกถึง สิ่งที่ส่งเวียนกันในโซเชียลมีเดียครับ ที่บอกว่า “We hate society but we are society ที่แปลไทยได้ว่า “เราเกลียดสังคม แต่พวกเราก็คือสังคม” ที่มีความหมายว่า แม้ว่าเราจะเกลียดเราจะบ่นสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เรานั้นเองก็คือ รากของปัญหาที่อยู่ในสังคมแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น

เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่อยู่รอบตัวเรา และแม้ว่าบางครั้งเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาโดยตรง แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า เราไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่เราควรจะทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ (ส่วนหนึ่งเพราะว่า เอาเวลาที่ควรจะทำไปในการบ่นสิ่งต่าง ๆ ว่า ทำไมจึงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามที่ต้องการ)

เช่น หลาย ๆ คน บ่นเรื่องของสภาวะแวดล้อมที่ย่ำแย่ลง แต่แต่ละวันตนเองก็ผลิตขยะวันละไม่น้อย แถมบางทีไม่ได้พยายามที่จะลดปริมาณขยะเลย

บ่นเรื่องวิกฤติพลังงาน แต่ก็ใช้พลังงานเพื่อความสะดวกสบาย เปิดไฟทิ้งไว้อย่างพร่ำเพรื่อ โดยไม่ได้หันมาดูว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือไม่อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ คนไทยเราไม่พอใจ ตำหนิเรื่องรถติดตลอดเวลา แต่ตนเองก็จอดรถในที่ห้ามจอด ขับมอเตอร์ไซค์ย้อนศร ขับช้าช่องทางขวา ไม่เคารพกฎจราจร แซงในที่ห้ามแซง (ที่ปัจจุบันหาความพอใจกับอะไรได้ยาก เพราะมีแต่การวิพากษ์วิจารณ์สิ่งรอบตัวตลอดเวลา และนำไปสู่การเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา โดยที่อาจจะละเลย ความคิดแบบพุทธเรื่องของ ภวตัณหา วิภวตัณหา (เพราะบ่อยครั้งเราคิดถึงเรื่องของการดับทุกข์ ด้วยการลด ตัณหา หรือการลดความอยากมี เป็นหลักและมิได้ตระหนักถึงทุกข์จากความอยากเป็นและทุกข์จากความไม่อยากเป็นไม่อยากมี ในภาวะหนึ่ง ๆ) และอาจจะละเลยถึงการคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นไปด้วย และจะร่วมแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร หรือว่า แล้วตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานั้นด้วยหรือไม่และอย่างไร และหากว่าไม่ใช่เกิดจากตนเอง ภาคส่วนของตนเองเป็นต้นเหตุของปัญหานั้นหรือไม่อย่างไรด้วย

เช่นกรณีของการที่สมาคมสื่อเรียกร้องต่อทาง คสช.เพื่อให้มีเสรีภาพในการรายงานข่าว ผู้เรียกร้องนั้นเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบเต็มเปี่ยม แต่การกำกับดูแลกันเองของสมาคมต่อสื่ออื่น ๆ (ที่บางทีปฏิเสธที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเอง) ก็นำไปสู่ปัญหา จนกลายมาเป็นประเด็นที่เห็นอยู่เนือง ๆ เช่นกัน

สำหรับอาการของความหงุดหงิด ไม่พอใจสิ่งใด โดยไม่พยายามแก้ไขปัญหานั้น ในเชิงพุทธคือการที่จิตกระเพื่อมไปเรื่อย ๆ การที่ยิ่ง บ่น ยิ่งด่าทอ ยิ่งแสดงความไม่พอใจ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ทุกข์เหล่านั้นเขม็งเกลียวมากขึ้น หากว่ามีการแก้ไขปัญหาจากทัศนคติและสภาวะจิตอย่างนั้น ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่วางอยู่บนสภาวะธรรมที่มีอารมณ์เป็นปัจจัยนำมากกว่าสภาวะธรรมที่เน้นการใช้ ปัญญา เหตุผล เป็นปัจจัยหลัก ที่ที่สุดแล้วก็จะไม่ค่อยสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้สักเท่าไหร่ เพราะเป็นการแก้ด้วยอารมณ์ นอกเหนือไปจากนี้ ด้วยสภาวะจิตที่ไม่พอใจอะไรสักอย่าง ตำหนิโน่นตำหนินี่ ที่สุดก็จะทำให้ เกิดปัญหาในการทำงานกับคนรอบข้างเพิ่มเติม เพราะหาจุดจบไม่ได้สักที และก็ก่อเกิดเป็นห่วงโซ่ ต่อกันไปเรื่อย ๆ ขยายวงสภาวะธรรมที่กระเพื่อมไม่เคยหยุดนิ่งตลอดเวลา จนเป็นสังคมแห่งความอลเวง

สังคมไทยเป็นสังคมที่ด้านหนึ่งได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก ที่คนไทยอยากจะเห็นคนไทยเหมือนชาวตะวันตกสมัยกรีกโรมัน มีการถกประเด็นทางความคิดวิพากษ์วิจารณ์กันโดยต่อเนื่อง แต่การถกกันโดยการใช้อารมณ์นำ และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ไม่ได้ทำให้ประเทศเราไปไหน

เวลาเก้าปีที่ผ่านมาน่าจะพอให้เห็นแล้วว่า การเดินตามรอยโลกตะวันตก มีสิทธิเสรีภาพกันอย่างเต็มที่ ใฝ่หาเสรีภาพโดยปราศจากวุฒิภาวะทางสภาวะธรรม และมุ่งประหัตประหารกันทางความคิด ไม่พอใจอะไรกันง่าย ๆ นำสังคมไปสู่ความปั่นป่วนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

และแทนที่จะเดินหน้าประเทศไทยด้วยสติ กลับเดินหน้าประเทศไทยด้วย หลักการ เหตุผล ทฤษฎี แต่ปราศจากสติ เข้าข่ายมีความรู้ มีปริญญา แต่ไม่ถึงระดับปัญญา (ความรู้ที่มีสติกำกับ)

จึงอยากจะฝากเรื่องของการปลดเปลื้องทุกข์จากความไม่พอใจ ไม่บ่นพร่ำเพรื่อ น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า.

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน/รู้โลกไม่สู้รู้ตน
เดลินิวส์ออนไลน์, วันพุธ 2 กรกฎาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น