++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

@สุขใจที่ได้ทำงานร่วมกัน



ผมได้รับเชิญไปทำสัมมนาทั้งวันให้กับบุคลากรฝ่ายบริการของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ในหัวข้อ การทำงานเป็นทีม โดยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใน ลดความขัดแย้ง และเสริมสร้าง Team work ซึ่งผมได้ใช้แนวทางจิตวิทยาร่วมกับการบริหารจัดการและปรัชญาแนวพุทธธรรมเข้าร่วมกัน

ผู้เข้าสัมมนาทุกคนต่างยอมรับ มีความสุข มีความเข้าใจชีวิตตนเองและชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นทีมงาน รวมทั้งชีวิตอนาคตที่จะต้องดำเนินต่อไปอย่างมีคุณค่า

ในแง่จิตวิทยาแล้วมนุษย์มีความต้องการอยากมีความสุข ทั้งสุขทางกายและสุขทางใจ

แต่ถ้าใครมุ่งแต่รับความสุขอย่างเดียวโดยไม่แบ่งปันให้คนอื่น ก็มักจะมีความทุกข์ เพราะจะขาดมนุษยสัมพันธ์ ผู้คนรอบข้างไม่อยากเป็นมิตรหรือให้ความร่วมมือ

มนุษย์จึงต้องมีเมตตาและรู้จักแบ่งปัน

แต่ถ้าเป็นความสุขจากความสำเร็จจะไม่ค่อยยั่งยืนนัก เพราะความสำเร็จได้มาเท่าไรก็ไม่เคยพอ เช่น เงินทอง ปริญญา ตำแหน่ง เกียรติยศทางสังคม

ความสุขทางโลกนั้นมักหมายถึงความสำเร็จ คือหาทางให้ได้สิ่งที่มาสนองความอยากและความไม่อยากให้ได้

แต่ความสุขทางพุทธนั้นเป็นความสุขที่เกิดจากการมีอิสระจากความอยาก คือการหาทางทำให้ตัวเองอยู่เหนือความอยากให้ได้

เราจึงต้องรู้จักคำว่า “พอ” และ “ยอม” เพื่อจะได้ไม่ไปเพิ่มความต้องการให้มากขึ้นจนเป็นที่มาของความโลภ โกรธ และหลง ซึ่งจะกลายเป็นกิเลสที่จะทำให้ชีวิตมีข้อบกพร่องมากขึ้น ทำให้คิดผิด พูดผิด และทำในสิ่งที่ผิด ๆ มากขึ้น

ในเรื่องทางจิตใจนั้น ทางพุทธศาสนากำหนดให้จิตมีคุณสมบัติ
1. รู้
2. ตื่น และ
3. เบิกบาน

และให้สิทธิที่จิตจะพึงทำได้คือ :

1. มีสิทธิของการเรียนรู้ เพื่อจะให้ไม่โง่

2. มีสิทธิที่จะมีความสุข เพื่อจะได้ไม่ทุกข์

3. มีสิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกและคิดในสิ่งใหม่ที่ดี ๆ

นับว่าเป็นแนวทางแบบ (Positive Thinking) ทั้งนั้น ทันสมัยมาก

พูดเรื่องความสุขนี้ แรก ๆ ก็คิดไม่เหมือนกัน เถียงกันทั้งนั้นว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน

แต่พออยู่ ๆ ไปเข้าใจชีวิตมากขึ้น เห็นความทุกข์ของชีวิตมากขึ้น มักจะคิดคล้าย ๆ กัน คืออยากมีความสุขแนวพุทธมากขึ้นทั้งนั้น

ในการบรรยายสัมมนาจึงเน้นให้ผู้เข้าสัมมนาได้รู้จักวิธีทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วย

เมื่อเข้าใจชีวิต เข้าใจสิ่งที่ชีวิตอยากได้คือความสุข รู้จักวิธีหาทางให้ได้ความสุขได้บ้างแล้ว

จะอบรม สั่งสอน หรือให้ทำงานร่วมกันโดยมีกติกาอย่างไรบ้าง ก็ทำได้ง่าย จะเกิดภาวะ “สุขใจที่ได้ทำงานร่วมกัน” ได้

ที่ทำงานร่วมกันไม่ได้ ก็เพราะต่างคนต่างไม่มีและไม่รู้วิธีหาความสุขจริง ๆ นี่แหละ

โดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์) คอลัมน์โลกและชีวิต นสพ แนวหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น