++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทำอย่างไร..เมื่อลูก..ติดเกมส์

@ ทำอย่างไร..เมื่อลูก..ติดเกมส์


เมื่อไม่สามารถแยกเด็กออกจากการเล่นเกมได้ ก็ต้องให้เด็กๆ เล่นเกมอย่างมีกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อการเล่นเกมนั้นไม่ทำร้ายสุขภาพและเป็นการเล่นเกมเพื่อการผ่อนคลาย หรือเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่เอ๊ะ!!! แล้วถ้ากฎกติกาที่ตั้งไว้เกิดไม่ได้ผลล่ะ คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำอย่างไรต่อไป...

1. ตั้งสติและรักษาสัมพันธภาพระหว่างกันให้ดี อย่าใช้อารมณ์ อย่าตำหนิว่ากล่าวลูกด้วยถ้อยคำรุนแรง อย่าพูดราวกับว่าลูกทำความผิดร้ายแรงที่ติดเกม อย่าหักดิบด้วยวิธีการที่แข็งกร้าว

2. พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับปัญหาการเล่นเกมของลูก เปิดการสนทนาด้วยคำพูดเชิงบวก เช่น “พ่อเข้าใจว่าลูกชอบเล่นเกมมาก และพ่อก็เชื่อว่าเกมให้อะไรดีๆกับลูกหลายอย่าง...แต่พ่อเป็นห่วงว่าลูกจะใช้เวลากับมันมากเกินไปจนเกิดปัญหากับลูก...”

3. ปลูกฝังทัศนคติในการเล่นเกมของลูกว่า “เกมสมดุล...ชีวิตสมดุล” หมายถึง ถ้าลูกจัดสรรเวลาการเล่นเกมได้อย่างสมดุลโดยไม่ละเลยกิจกรรมอื่นๆที่สำคัญในชีวิตของเขา เขาจะมีชีวิตที่สมดุล

4. สื่อสารกับลูกให้ชัดเจนว่า พ่อแม่ไม่ได้ต่อต้านการเล่นเกมของลูก เพียงแต่ต้องการให้ลูกรับเอาเกมเข้ามาเป็น “ส่วนหนึ่งเล็กๆ”ของชีวิตที่เขาควบคุมมันได้ ไม่ใช่รับเอาเกมเข้ามาเป็น“ทั้งหมดของชีวิต” และปล่อยให้เกมควบคุมชีวิตเขา

5. ร่วมกันกับลูกกำหนดกฎหรือกติกาการเล่นเกม โดยเริ่มต้นที่การกำหนดเวลาการเล่นที่เหมาะสม (ไม่เกิน 1 ชั่วโมงในวันธรรมดา และไม่เกิน 2 ชั่วโมงในวันหยุด) อย่าลืมให้คำชมเชยลูกเมื่อลูกทำตามกติกา

6. ฝึกให้ลูกมีวินัย รู้จักแบ่งเวลาในการเล่นเกม มอบหมายงานบ้านให้ลูกรับผิดชอบ เช่น ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน กรอกน้ำ รดน้ำต้นไม้ ทิ้งขยะ เป็นต้น รวมทั้งการทำกิจวัตรประจำวัน เมื่อลูกทำได้เสร็จเรียบร้อยจึงค่อยอนุญาตให้เล่นเกม

7. มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น พาออกนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบ จัดให้มีกิจกรรมทดแทน เพื่อสนับสนุนให้ลูกได้กล้าแสดงออก และแสดงความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ทำอาหาร งานฝีมือ

อย่าลืมว่าลูกส่วนหนึ่งติดเกมเพราะความเหงา เบื่อ ไม่มีอะไรสนุกๆทำ

8. จัดตั้งเครือข่าย (network) ผู้ปกครองในห้องเรียนของลูกหรือในชุมชน แล้วผลัดกันนำลูกทำกิจกรรมสนุกสนาน ท้าทายหลังเลิกเรียน หรือในวันหยุด เช่น เดินป่า แคมป์ปิ้ง ทำกิจกรรมผจญภัยต่างๆ ถ่ายรูป แข่งกีฬา ฯลฯ

9. ผู้ปกครองควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยใช้กฎเดียวกัน อย่าปัดให้เป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง

10. พ่อแม่หรือผู้ปกครอง ควรมีเวลาอยู่ร่วมกับลูก ๆ พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างของการมีงานอดิเรก การมีวินัยในตัวเอง และการจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมให้ลูกดู

11. พยายามใช้อินเทอร์เน็ตที่ความเร็วต่ำ ยกเลิก high speed อินเทอร์เน็ต หรือยกเลิก wi-fi ในบ้าน ใช้เป็น modem เฉพาะจุด หรือ air-card รวมทั้งหลีกเลี่ยงการ upgrade เครื่องคอมพิวเตอร์ให้รองรับการเล่นเกม

12. ในรายที่ติดมากจริงๆ และลูกต่อต้านรุนแรงที่จะเลิก พ่อแม่ต้องเข้าถึงลูก ตามเข้าไปในโลกในเกมของลูกในระยะแรกพ่อแม่ควรร่วมเล่นเกมกับลูก (แต่อย่าเผลอติดเองเสียหละ) ทำความรู้จักกับเกมที่ลูกชอบเล่น แสดงความสนใจในสิ่งที่ลูกกำลังเล่นโดยไม่ตำหนิ หากเห็นว่าเป็นเกมที่ไม่เหมาะสม หรือเกมที่ใช้ความรุนแรง พยายามเบี่ยงเบนให้ลูกมาสนใจเกมอื่นที่พอจะมีส่วนดี ดึงเอาส่วนดีของเกมมาสอนลูก เช่น เกมสร้างเมือง เกมวางแผนต่างๆ เกมที่มีบทบาทสมมุติเพื่อฝึกทักษะทางสังคม เป็นต้น พ่อ แม่ไม่จำเป็นต้องเล่นเกมเป็น ขอเพียงมีเวลาอยู่ใกล้ลูก ดูเขาเล่นเกมและศึกษาหาข้อมูลเนื้อหาเกมแต่ละเกมเป็นอย่างไร รู้จักเกมที่ลูกเล่นเพื่อจะได้พูดคุยด้วยภาษา(เกม)เดียวกันกับลูก เมื่อสัมพันธภาพกับลูกเริ่มดีขึ้น พ่อแม่จึงค่อยๆดึงลูกให้มาสนใจในกิจกรรมอื่นทีละเล็กทีละน้อย

13. หากทำทุกวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล พ่อแม่ควรพาลูกมาพบจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากลูกอาจจะป่วย มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ลึกๆ เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น ฯลฯ เพื่อรับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาต่อไป

(บทความโดย รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)

@ สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำ ...ถ้าอยากให้ลูกเลิกติดเกม ( ผู้เขียน : อรพร บาลี) ได้แก่

1. ตำหนิ บ่น ว่า แต่ไม่เอาจริง

“เล่นนานไปแล้ว” “เลิกได้แล้วนะ” “เมื่อไหร่จะเลิกซักที” การพูดอย่างนี้บ่อยๆ ซ้ำๆ นอกจากจะไม่ค่อยได้ผลแล้ว ยังทำให้ลูกเกิดความรำคาญว่า ‘อะไรเนี่ย แม่บ่นอีกละ’หนักๆ เข้าก็กลายเป็นว่าไม่อยากคุยหรือเจอหน้าพ่อแม่ เพราะรู้ว่าเค้าจะต้องโดนต่อว่าแน่ๆ

2. จับผิด ไม่ไว้วางใจ ไม่เชื่อใจ

คอยจ้องจับผิด เวลาเปิดคอมก็ถามว่าเปิดเล่นเกมรึเปล่า พูดดักคอเวลาลูกใช้คอมพิวเตอร์ว่าอย่าเล่นเกมเชียวนะ หรือเวลาน้องๆ กลับมาถึงบ้านอาจจะถามว่า “เอ๊ะ วันนี้กลับช้า ไปแวะร้านเกมก่อนเข้าบ้านรึเปล่า?”
การที่คุณพ่อคุณแม่ทำแบบนี้บ่อยๆ น้องๆ จะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เชื่อใจเค้า (แม้ว่าความจริงแล้วเค้าเองก็มีส่วนทำให้พ่อแม่ไม่เชื่อใจด้วยก็ตาม) แต่ความไม่ไว้วางใจ หวาดแระแวงซึ่งกันและกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีต่อความสัมพันธ์เลย

3. ใจอ่อนเมื่อลูกต่อรอง

ถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้แล้วว่าเล่นเกมได้เท่านี้นะ แต่น้องยังอยากเล่นต่อ เลยต่อรองกับคุณว่า ‘ขออีก 10 นาทีน่า...อีกแป๊ปน่า’ไปๆ มาๆ 10 นาทีที่ว่าอาจลากยาวเป็นครึ่งชั่วโมง หรือหลายชั่วโมงเลยก็เป็นได้ ซึ่งพอต่อรองได้ครั้งหนึ่งก็มักจะมีครั้งต่อๆ ไป เพราะเค้ารู้ว่าพ่อแม่ไม่เอาจริง

การใจอ่อนอย่างนี้ไม่ได้มีผลกับแค่เรื่องเล่นเกมเท่านั้น แต่จะมีผลต่อกฎเกณฑ์ทุกอย่างในบ้าน ถ้าลูกรู้ว่าคุณจะใจอ่อนแล้ว เป็นเรื่องยากที่เค้าจะทำตามกฎกติกาที่วางไว้เพราะคิดว่าจะมาต่อรองเอาทีหลังได้ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการรักษาระเบียบวินัยในตัวเองของเค้าในระยะยาว

4. ไม่เสมอต้นเสมอปลาย

คุณอาจเคร่งครัดต่อกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ได้ แต่ก็เป็นแค่ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตั้งกฎว่าอย่าเล่นเกม
เกิน 2 ชั่วโมง แต่ก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นเพราะความใจอ่อนของคุณ หรือความที่คุณไม่มีเวลา สุดท้ายแล้วกฎเกณฑ์เหล่านั้นก็จะไร้ความหมาย ไม่ต่างกับการใจอ่อนยอมให้ทุกครั้ง

5. ผู้ปกครองขัดแย้งกันเอง

เมื่อลูกขอเล่นเกม คุณแม่อาจจะไม่ให้ แต่คุณพ่ออาจตามใจ เวลาเกิดความขัดแย้งกันอย่างนี้
น้องๆ ก็มักเลือกเข้าข้างฝ่ายทีให้ประโยชน์กับเค้ามากที่สุด ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ เช่น เค้าอาจรู้สึกว่าแม่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเค้า เป็นศัตรูกับเค้าไปเลย ในเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่ควรมีจุดยืนร่วมกัน ว่าจะวางกฎกติกาของบ้านอย่างไร และตัวน้องๆ เองก็ต้องมีส่วนร่วมในการวางกฎกติกาด้วย

6. รู้สึกผิด

คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกไม่ดีเวลาที่ต้องขัดใจลูก ไม่อยากให้ลูกเสียใจ หรือผู้ปกครองหลายคนอาจรู้สึกผิดเพราะมองว่าตนเองไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกจึงอยากชดเชยด้วยการยอมให้เล่นเกม สุดท้ายแล้วเกมอาจกลายเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก น้องๆ ได้ใช้เวลากับมันมากกว่าอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เสียอีก ซึ่งถ้าเค้าผูกพันกับมันมากๆ ภายหลังพอเราเริ่มคิดว่าลูกชักจะติดเกมแล้วนะ พยายามจะดึงเขาออกมา คุณพ่อคุณแม่จะยิ่งลำบากใจมากกว่าการขัดใจในช่วงเริ่มแรกเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น