++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

#‎โรคตื่นตระหนก‬....รักษาได้......(ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน )

#‎โรคตื่นตระหนก‬....รักษาได้......(ผศ.พญ.สุทธิพร เจณณวาสิน )
โรคแพนิค หรือบางคนอาจเรียกว่า โรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว และพบไม่น้อยเลย แต่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก แม้กระทั่งเมื่อเป็นโรค ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด อาจไม่ทราบด้วยว่า อาการที่ผู้ป่วยแสดงออกนั้น เป็นอาการของโรคแพนิคที่รักษาได้
อาการของโรคแพนิคนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทันหรือไม่เต็มอิ่ม บางรายอาจวิงเวียน ท้องไส้ปั่นป่วน มือเท้าเย็นชารู้สึกเหมือนจะควบคุมตัวเองไม่ได้ จากนั้นจะเริ่มรู้สึกกลัวเหมือนตัวเองกำลังจะตาย หรือจะเป็นบ้า อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มที่และสงบลงในเวลาประมาณ 10 นาที บางรายอาจนานกว่านั้น แต่มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง และจะเป็นซ้ำ ๆ โดยมีสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีก็ได้ แพทย์ก็มักตรวจไม่พบความผิดปกติ และมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก
หากไม่ได้รับการรักษาและอธิบายให้เข้าใจ ตัวโรคจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ผู้ป่วยจะทรมานจากอาการและดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความวิตกกังวลตลอดเวลา กลัวที่จะต้องอยู่ในที่ที่ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือได้เมื่อมีอาการ ทำให้ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว หรือกลัวที่จะทำกิจกรรมบางอย่างหากอาการแพนิคกำเริบขึ้นทันที เช่น ข้ามสะพานลอย ขึ้นลิฟต์ หรือขับรถ และอาจพบภาวะอื่น ๆ ตามมา ที่พบบ่อยคือภาวะซึมเศร้า จากการมีอาการและไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ กลัวว่าจะตายจากโรค ทำให้ผู้ป่วยเริ่มท้อแท้
สาเหตุของโรคแพนิคจริง ๆ นั้น ไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางร่างกายและทางจิตใจ
ทางร่างกาย อาจเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า “อะมิกดาลา” ทำงานผิดปกติ
ดังนั้นเมื่อมีสิ่งกระตุ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม ความคิดที่ผิดปกติ และต่อเนื่องไปถึงการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย คล้ายระบบสัญญาณกันขโมยที่ไวเกินดังขึ้นโดยไม่มีขโมยจริงๆ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางร่างกายอื่น ๆ เช่น
- กรรมพันธุ์ คนที่มีญาติเป็นโรคแพนิค มีแนวโน้มจะเป็นได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์
- การใช้สารเสพติด จะไปทำให้สมองทำงานผิดปกติ หรือสารเคมีในสมองเสียสมดุล
- ฮอร์โมนที่ผิดปกติก็อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลได้
ทางจิตใจ มีงานวิจัยยืนยันว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต อาจทำให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็ก มีโอกาสเป็นโรคแพนิคได้มากกว่า เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ไม่ยากโดยยาที่ใช้รักษามี 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. ยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เมื่อเกิดอาการขึ้นมา ให้รีบกินแล้วอาการจะหายทันที เป็นยาที่รู้จักกันในชื่อ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายกังวล ยาประเภทนี้ ถ้ากินติดต่อกันนานๆ จะเกิดการติดยาและเลิกยาก
2. ยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น จะต้องกินต่อเนื่อง 2-4 สัปดาห์ จึงจะเห็นผล สามารถป้องกันโรคได้ในระยะยาว เพราะยาจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า แต่จะไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย
อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ได้ผลดี ควรมีการรักษาทางจิตใจควบคู่ไปด้วย
ขณะเดียวกันคนใกล้ชิด ผู้เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งทีมแพทย์พยาบาลควรเข้าใจและให้กำลังใจ อย่าคิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ ซึ่งยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจเขาอย่างมาก แล้วอาการแพนิคก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายในที่สุด
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=687

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น