++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558

หลวงปู่ขาวกับเด็กน้อย

หลวงปู่ขาวกับเด็กน้อย

หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นวิปัสสนาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่มีลูกศิษย์ลูกหานับถือมากโดยเฉพาะในภาคอีสาน ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงในสมาธิภาวนาจนเป็นที่เลื่องลือ ขณะเดียวกันท่านก็เปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างมาก

มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่ง แม่พาเด็กสามขวบมาถวายอาหารเช้าให้หลวงปู่ขาว ในฝาบาตรของหลวงปู่นั้นมีเงาะซึ่งปลอกเปลือกเรียบร้อยวางอยู่ใกล้ ๆ เด็กไม่เคยเห็นเงาะ ก็สนใจเพราะมันขาวน่ากินดี
หลวงปู่จึงถามเด็กน้อยว่าอยากกินหรือเปล่า ถ้าอยากกินต้องแลกกันนะ เด็กตอบประสาซื่อว่า อยากกิน แล้วถามว่าอยากกินต้องทำอย่างไร

หลวงปู่บอกให้นั่งสมาธิ เด็กถามว่านั่งสมาธิทำอย่างไร หลวงปู่จึงแนะว่า ให้นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หลับตา แล้วภาวนาไปด้วย
เด็กน้อยถามต่อว่าภาวนาอย่างไร หลวงปู่ขาวก็บอกว่าให้ภาวนาว่า “หมากเงาะ” (ภาษาอีสานเรียกลูกเงาะว่าหมากเงาะ )

เด็กก็ทำตาม ทีแรกเด็กนั่งไปก็เลียริมฝีปากไปด้วยเพราะอยากกินมาก แต่พอนั่งสมาธิไปสักพัก จิตก็รวมเป็นหนึ่ง รู้สึกสบาย เพราะว่าจิตไปอยู่ที่คำว่าหมากเงาะๆ เด็กรู้สึกสงบเป็นอย่างยิ่ง ไม่นานเด็กก็ได้ยินเสียงระฆัง พอเปิดตาขึ้นมาปรากฏว่าไม่มีใครอยู่ในศาลาแล้ว มีแต่หลวงปู่ขาวกำลังนั่งสมาธิอยู่ด้วย ปรากฏว่าตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายสามแล้ว เป็นเวลาที่พระจะต้องออกมาทำกิจส่วนรวม

วันนั้นเด็กน้อยนั่งสมาธินานถึงเจ็ดชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน และไม่ได้สนใจสมาธิด้วย สนใจอย่างเดียวคือ “หมากเงาะ”

หลวงปู่ขาวทราบดีว่า สมาธินั้นไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กก็ทำได้ เพราะเป็นศักยภาพที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ใช่แต่เท่านั้นท่านยังทราบดีว่า อุบายที่นำไปสู่สมาธินั้นมีมากมายหลายอย่าง แม้แต่ความอยากหรือ “ตัณหา”ก็สามารถจูงใจให้เกิดสมาธิได้ หากรู้จักใช้ให้เป็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องบริกรรมด้วยคำว่า “พุทโธ” หรือ “พองหนอ ยุบหนอ”เท่านั้น

ทุกอย่างที่เรามีอยู่ ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม หากใช้ให้เป็น ก็สามารถก่อประโยชน์หรือสร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น รวมทั้งกิเลส แม้แต่ความทุกข์ ไม่เพียงช่วยให้เราเข้มแข็งหรือตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเท่านั้น แต่หากเรารู้จักและเข้าใจมันอย่างแจ่มแจ้ง ก็ช่วยให้เกิดปัญญาจนเป็นอิสระจากความทุกข์ได้

เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น