++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

โคมลอย ว่าวลม โพยมยาน จุดกันเพื่ออะไร?

โคมลอย ว่าวลม โพยมยาน จุดกันเพื่ออะไร?
November 20, 2012 at 8:29pm


ความนิยมจุด "โคมลอย" ทุกวันนี้ มีกันจนเฝือ แทบจะทุกงานประเพณีบุญ แพร่ลามมาถึงทุกงานเลี้ยงขันโตก
 
มีอยู่ช่วงหนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือเวียนถึงผู้ว่าราชการแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบน สั่งเตือนชาวให้ล้านนาเพลาๆ เรื่องการจุดโคมลอยให้น้อยลงหน่อย หรือหากงดจุดไปเลยได้ก็จะยิ่งดี

ข้ออ้างคือหาว่ามารบกวนวิถีการบินทำให้เครื่องบินเกิดอันตราย อันเป็นที่มาของการลุกฮือขึ้นประท้วงโดยชาวล้านนา พร้อมกับคำถามแทงใจดำที่ว่า

“ระหว่างเครื่องบินกับประเพณีการจุดโคมลอยของชาวล้านนาที่มีมาหลายร้อยปีแล้ว ใครที่ควรเป็นฝ่ายถอย หากจะห้ามไม่ให้พวกเราจุดโคมลอย ควรไปห้ามไม่ให้มีเที่ยวบินน่าจะง่ายกว่า"

เหตุการณ์ขัดแย้งนั้นค่อนข้างรุนแรงอยู่หลายปี นำมาซึ่งกฎระเบียบมากมายในช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่นการกำหนดระยะเวลาการจุดโคมลอยว่าให้สามารถกระทำได้ในระหว่างช่วงเวลาใดและสถานที่ไหนบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตรงกับช่วงที่เครื่องบินจะเหินฟ้าออกจากท่าอากาศยาน เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงหัวค่ำระหว่างหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มนั้นเป็นช่วงที่สายการบินชุกที่สุด แถมยังเป็นช่วงที่คนนิยมจุดโคมลอยมากที่สุดอีกเช่นกัน

แล้วใครควรเป็นฝ่ายถอย

วุ่นวายถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันการศึกษาหลายสำนัก ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแม่โจ้ ต่างก็ใช้วิกฤติที่กำลังขัดแย้งอยู่นั้นให้เป็นโอกาส ด้วยการแข่งขันกันออกแบบโคมลอยชนิดที่เวิร์คที่สุด อาทิ สามารถเผาไหม้ในตัวเองภายในระยะเวลาไม่เกินกี่นาที หรือเมื่อลอยไปปะทะกับเครื่องบินแล้วจะไม่รบกวนสมาธิของกัปตัน เป็นต้น


อย่างไรเสีย ชาวล้านนายังคงยืนกรานแน่นหนักว่า "ไม่เลิก ไม่รอ ไม่รับ" (ไม่เลิกจุดโคมลอย ไม่รอเวลาว่ากี่ทุ่มถึงกี่ทุ่ม และไม่รับรูปแบบโคมประยุกต์ที่ทางการกำหนดให้จุดได้เท่านั้น)

โคมลอย ลอยทำไม ลอยเพื่อใคร

ที่มาของการจุด "โคมลอย" หรือที่คนล้านนาโบราณเรียกว่า "ว่าวไฟ" "ว่าวควัน" หรือ "ว่าวลม" (ว่าวฮม)นั้น จุดประสงค์ดั้งเดิมที่แท้จริงหาใช่เพื่อความรื่นเริงบันเทิงไม่

หากแต่จุดเพื่อเป็นพุทธบูชาถวายแด่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามพุทธประวัติกล่าวว่าภายหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงปลงพระเกศาด้วยพระขรรค์เพื่อดำรงสมณเพศ ณ ริมฝั่งอโนมานทีนั้น

พระอินทร์ได้นำพระเกศธาตุหรือมวยผมของพระองค์ก่อนจะบรรลุธรรมมาเก็บรักษาไว้ให้ห่างไกลจากมนุษยโลกเนื่องจากเป็นของสูงของศักดิ์สิทธิ์ บรรจุไว้ในพระเจดีย์องค์หนึ่งมีชื่อว่า "จุฬามณี" หรือ "จุฑาศรี" และเชื่อว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระบรมสารีริกธาตุทั้งหมดจะมารวมตัวกันอยู่ในพระเจดีย์จุฬามณีเป็นหนึ่งเดียว

โคลงนิราศหริภุญไชย รจนาโดยพระภิกษุชาวเมืองเชียงใหม่ราวปี พ.ศ. ๒๐๖๐ ตรงกับสมัยพระเมืองแก้ว ได้ยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระเกศธาตุจุฬามณีของชาวล้านนา โดยอุปมาอุปไมยผ่านองค์พระมหาชินธาตุเจ้าหริภุญไชยว่า อร่ามเรืองไปด้วยทอง มีความงามเลิศลักษณ์ยิ่งนัก จักเป็นรองก็เพียงแต่เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้น

เจดีย์ชินธาตุเจ้า ศรีสถาน
โสภิตพะงาปาน เกศเกล้า
ทศมณมิมีปาน พอคู่ ครบเอ่
ฤๅเลิศไตรทิพย์เท้า เท่าเว้นจุฑาศรี

มหาชินธาตุเจ้า จอมจักร
เป็นปิ่นทศลักษณ์ เลิศหล้า
เล็งแลมิใครทัก เทียมแทก ได้เอ่
ทูนเทิดวางไว้ฟ้า ฟากด้าวดาวดึงส์

ชาวล้านนาจึงมีประเพณีปล่อยโคมขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อให้ลอยไปให้สูง-ไกลให้มากที่สุด จักได้บูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีให้ใกล้สรวงสวรรค์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยประเพณีที่จุดโคมลอยนี้กระทำกันในเดือนยี่เหนือ หรือเดือนสิบสองภาคกลาง นั่นคือช่วงเทศกาลลอยกระทง ชาวล้านนาเรียกยี่เป็ง

ด้วยเหตุนี้ชาวล้านนาจึงไม่อาจยอมรับโคมสถาบันการศึกษาที่ออกแบบมาให้สลายตัวภายในเวลาห้านาที ดูสิ! ยังลอยไปไม่ถึงเสี้ยวทางของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เลย

ราชสำนักสยามภาคกลาง มีโคมลอยหรือไม่

ในพระราชพิธีสิบสองเดือนหรือ "ทวาทศมาส" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้มีพระบรมราชาธิบายถึงการบูชา "โคมลอย" ในช่วงเทศกาลลอยกระทงว่า

“การยกโคมขึ้นนั้น ตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม การบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้ เป็นต้นตำราแท้ในการถือไสยศาสตร์"

จะเห็นว่าในขณะที่ชาวล้านนาจุดโคมลอยงานยี่เป็งเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ทางภาคกลางเทศกาลเดียวกันกลับบูชาพระเป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ข้อสำคัญ "โคมลอย" ของราชสำนักสยาม เป็นโคมที่ลอยกับน้ำคือพระแม่คงคา หาใช่โคมที่ลอยกับฟ้าไม่ จึงควรเรียกว่า "ลอยโคม" มากกว่า "โคมลอย"

ส่วนโคมลอยฟ้านั้น ชาวสยามในราชสำนักเริ่มรู้จักมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๖ เพราะเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ (หมายเหตุไม่ได้พิมพ์ผิด หนังสือเล่มนี้ใช้ "ศรับท์" แทน "ศัพท์") หรือนิยมเรียกกันง่ายๆว่า พจนานุกรมภาษาสยาม ที่ ดร.แดน บีช แบรดเลย์ จัดพิมพ์ขึ้น (Dictionary of the Siamese Language by Dr.Dan Beach Bradley, Bangkok 1873) โดย "หมอบรัดเล" เรียกโคมลอยว่า Balloon และอธิบายว่า

“โคมลอย" คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้สว่าง, แล้วควันไฟก็กลุ้มอบอยู่ในนั้น, ภาโคมให้ลอยขึ้นไปได้บนอากาษ (หน้า ๑๐๕)

กล่าวให้ง่ายก็คือชาวสยามเมื่อร้อยปีก่อนรู้จัก "โคมลอย" อยู่สองแบบ แบบแรกคือโคมลอยน้ำสำหรับบูชาเทพตรีมูรติในศาสนาพราหมณ์ กับแบบที่สองแปลมาจากคำว่า Balloon ในลักษณะการใช้งาน (function)แต่ "โคมลอย" ของชาวสยามทั้งสองแบบแตกต่างไปจากความหมายเชิงสัญลักษณ์ตามที่ชาวเหนือปฏิบัติกันโดยสิ้นเชิง

เห็นได้จากการที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายศัพท์ของคำว่า "โคมลอย"เพิ่มเติมไว้ด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า "โพยมยาน" แปลมาจาก Air Ship ว่า

"คือยานที่ลอยไปในอากาศได้โดยใช้ความร้อนหรือแก๊สที่เบากว่าอากาศยกเอายานนั้นลอยไปได้"

สรุปก็คือปราชญ์สยามรู้จักกับคำว่า "โคมลอย" หรือ "โพยมยาน" ตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ ๔ ต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นการรู้จักผ่านจากคำแปลของชาวตะวันตกในลักษณะบอลลูนลอยฟ้า หาใช่รู้จักผ่านประเพณีการบูชาพระธาตุจุฬามณีของชาวล้านนาไม่

โคมลอยเริ่มมีขึ้นเมื่อใด

อันที่จริงปราชญ์ล้านนาหลายคนไม่นิยมเรียกกระบะเครื่องบูชาไฟบนฟ้านั้นว่า "โคมลอย" เนื่องจากเคยเรียกกันมาว่า "ว่าวลม" "ว่าวควัน" บ้างเรียก "ว่าวไฟ"

เหตุที่เรียก "ว่าว" ก็เพราะเมื่อแหงนมองไกลๆ ขณะที่ล่องลอยอยู่บนฟ้า คนล้านนารู้สึกว่ามันมีความสว่างไสวเคลื่อนไหวกระพริบได้คล้ายดั่งว่าวที่แทรกตัวไปมาท่ามกลางกลุ่มดาว มิได้เห็นเป็นดวงโคม

ในอดีตคนล้านนาประดิษฐ์ว่าวไฟจากกระดาษสาแผ่นใหญ่ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นกระดาษว่าว เดิมนั้นขนาดสีสันและรูปทรงจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่หามาได้ในแต่ละท้องถิ่น เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้ว่าวลอยได้โดยมีแสงไฟ

คนโบราณจึงใช้ "ควัน" ที่เกิดจากการเผาไส้ผ้าชุบน้ำมันที่แขวนไว้ที่ปากโครงไม้ของว่าว เป็นเชื้อเพลิงเครื่องพยุงว่าวให้ลอยสูงขึ้น วัดของแต่ละหมู่บ้านเกิดการแข่งขันกันระหว่างสามเณร ที่เฝ้ารอเทศกาลยี่เป็งปีละหนอย่างใจจดใจจ่อ ด้วยจะได้มีโอกาสฝึกประลองความรู้ด้านกลศาสตร์พื้นบ้าน จุดจินตนาการฝันเฟื่องว่าว่าวไฟของใครจะลอยสูงกว่ากันหรือทรงตัวอยู่บนฟ้าได้นานกว่ากัน อีกทั้งพวกชาวบ้านชาวช่องที่ประดิษฐ์ว่าวไฟเองไม่เป็นก็จะใช้วิธีฉีกกระดาษสาเป็นเส้นยาวระย้าแบบสายรุ้ง เขียนชื่อของตนและบรรพบุรุษนำมาขอต่อพ่วงห้อยย้อยระโยงระยางกับว่าวไฟของพระเณรจนเกิดสีสันสวยงาม พลางอธิษฐานจิตว่าอานิสงส์แห่งการจุดว่าวไฟบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้ ขอให้ตนได้รับแสงสว่างแห่งดวงปัญญาในทุกภพทุกชาติ



เหตุที่ "ว่าวฮม-ว่าวควัน-ว่าวไฟ" ถูกเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น "โคมลอย" ก็เนื่องมาจากเหตุการณ์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยถูกส่งมาประจำการในดินแดนล้านนา แล้วได้เห็นการจุด "ว่าวไฟ"ในเทศกาลยี่เป็งลอยขึ้นสู่ฟ้า ต่างเรียกกันว่า "โคมลอย" (ตามความหมายที่คนกรุงเทพแปลว่า Balloon)ส่งอิทธิพลมาถึงชาวบ้านร้านตลาดกลางเวียงซึ่งส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ขายมักเป็นชาวกรุงเทพเชื้อสายจีนที่เพิ่งอพยพมาตั้งรกรากได้ไม่นาน ย่อมไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิถีชีวิตประเพณีของชาวล้านนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ชื่อเรียกเดิมของ "ว่าวฮม-ว่าวไฟ-ว่าวควัน" ลบเลือนหายไปจากการรับรู้ของคนล้านนายุคหลังๆ อย่างรวดเร็ว

ปัญหาก็คือทุกวันนี้ แทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยนิยมจุดโคมลอยกันสลอนถ้วนหน้า จุดกันเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่เห็นมีใครลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านว่าจะรบกวนสมาธิของนักบินอีกต่อไป เพราะแรกจุดก็เริ่มติดใจ แถมยังปล่อยโคมลอยกันทุกวาระเฉลิมฉลองจนพร่ำเพรื่อ เอะอะก็ปล่อยโคมลอยทั้งปีใหม่เทศ ปีใหม่ไทย ปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์)

ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งเทศกาลเหล่านี้เราไม่ว่ากันพออนุโลมได้แม้ว่าของเดิมเขาสงวนไว้เฉพาะในวันยี่เป็งหรือลอยกระทงเท่านั้น
แต่พวกกลับเอาไปเป็นเครื่องฉลองวันเกิด งานเลี้ยงต้อนรับ งานแห่พัดยศ งานฉลองเครื่องราช งานมุทิตาจิต งานเลี้ยงอำลา งานศพ งานแต่ง จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด

จุดกันเข้าไป ลอยกันเข้าไป โดยขณะจุดนั้นไม่เคยตระหนักรู้ว่าคนล้านนาเขาทำไปเพื่ออธิษฐานจิตให้โคมนี้ล่องลอยไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระเกศธาตุจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จุดโดยไม่รู้ว่าชื่อเดิมเขาคือ "ว่าวลม-ว่าวไฟ-ว่าวควัน" มิใช่ "โคมลอย"

ยิ่งทุกวันนี้โคมลอยจากกระดาษสาเป็นหัตถอุตสาหกรรมศิลป์ ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทั่วล้านนา มีขายกันให้เกลื่อนกลาด ยิ่งให้รู้สึกสงสารพระหนุ่มเณรน้อยที่กลายเป็นเหยื่อลัทธิบริโภคนิยม ต้องอดสนุก ยุติจินตนาการฝันเฟื่อง เลิกท้าทายภูมิปัญญาในการแปง (สร้าง) ว่าวไฟแข่งขันกัน

แต่ละรัฐบาลต่างมีนโยบายหันมาซื้อโคมลอยแจกหน่วยราชการทุกท้องถิ่นอย่างหนักหนาสาหัสที่สุด รณรงค์ให้ช่วยกันจุดตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ยิ่งเห็นโคมลอยแบบ Fake Fake ลอยเต็มฟ้าเข้มข้นมากขึ้นเท่าใด พลันความเข้มขลังและพลังของการลอยโคมกระดาษสาหรือว่าวไฟ-ว่าวควัน-ว่าวลมของชาวล้านนากลับยิ่งอ่อนโรยแรงไร้คุณค่ามากขึ้นเท่านั้น เหมาะสมที่จะใช้คำว่า “โพยมยาน” Bolloonหรือ Air Ship แทนคำว่า โคมลอย ยิ่งนัก

ปริศนาโบราณคดีตอนที่ ๑๒
 มติชนสุดสัปดาห์ เดือนธันวาคม 2553

https://www.facebook.com/notes/pensupa-sukkata-jai-inn/%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2-%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%A1-%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/556786207668988

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น