++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2558

เรื่องเล่าจากคุณเรืองโรจน์ 4 มีค2558

กลับบ้านที่ลับแลหนนี้ ผมค้นแฟ้มเก่าๆ เจอเอกสารถ่ายสำเนาเรื่องสั้น 2 เรื่อง

เรื่องแรก เป็นเรื่องสั้นที่พ่อเขียนชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้น 5 นาที ได้รับรางวัลปากกาทอง ปี 2500

"เขาหากินกับผี" ไม่ใช่เรื่องผี แต่เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีมนุษยชน เขียนแบบหักมุม (ซึ่งพ่อเขียนเรื่องในลักษณะนี้หลายเรื่อง ตัวละครในแต่ละเรื่องพ่อมักจะให้ลูกๆเป็นตัวเอก หรือไม่ก็พระเอก เช่น ธำรงรัฐ เสรี และ วัชระธรรม เรืองรอง เป็นต้น ส่วนผมนั้นคงไม่เหมาะจะเป็นพระเอก พ่อเลยเอาชื่อไปเป็นนามปากกา " โรจน์ เหรียญทอง")

ผมคงถูกปลูกฝังอย่างนี้ อีก 18 ปีให้หลัง ขณะเรียนอยู่ปี 1 นิติศาสตร์ รามคำแหง กำลังห้าวเต็มที่ ผมเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง "คำสาบานที่บ้านนอก" เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่เพิ่งก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาสมัครผู้แทนฯ แทนพ่อที่ถูกยิงตาย

ขณะยืนปราศรัยหาเสียง เขาประกาศจะสืบสานเจตนารมณ์เป็นผู้แทนฯแทนพ่อ คราวนี้คำปราศรัยของเขาสะกดมือปืนที่กำลังจะเหนี่ยวไกให้หยุดชะงัก ทำให้เขาได้เป็นผู้แทนฯสมใจนึก

เรื่องสั้นเรื่องนี้ อาจไม่นับเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตแบบของพ่อ คงจะเป็นเรื่องสั้นการเมืองที่อาจจะออกแนวน้ำเน่าเหมาะที่จะมาทำละครโทรทัศน์เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อพินิจดูเนื้อหาสำนวนของคนหนุ่มอายุ 19 ปีแล้ว ผมคิดไม่ถึงว่าจะเขียนได้ขนาดนี้ บางถ้อยคำเป็นคำปราศรัยบนเวทีหาเสียงของพ่อ และบางถ้อยคำ ผมเคยพูดบนเวทีปราศรัยหลายเวทีหลายวาระ

ตัวละครในเรื่องผมหยิบเอาชื่อพ่อมาใส่ และหานามสกุลมาคล้องจอง บังเอิญมาก ไม่กี่ปีต่อมาชื่อนั้นพ้องกับนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่จากบุรีรัมย์ และบังเอิญอย่างที่สุด เพียงปีครึ่งคล้อยหลังในเดือน มิถุนายน 2519 พ่อก็ถูกฆ่าตาย ผิดแต่ความตายของพ่อไม่ได้ถูกยิงเหมือนในเรื่องสั้น หากแต่ถูกรถชนบริเวณหน้าที่ทำการพรรคการเมืองแนวทางสังคมนิยมที่พ่อเป็นเลขาธิการพรรค และมีนโยบายสวนทางผู้มีอำนาจสมัยนั้น ในยุคที่เรียกว่า"ขวาพิฆาตซ้าย"

พ่อตายในสถานการณ์ครุกรุ่นของขบวนการไล่ล่านักการเมือง นักวิชาการ ชาวนาชาวไร่ กรรมกร และผู้นำนักศึกษา และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จินตนาการของคนหนุ่มวัย 19 ออกแบบเรื่องสั้นเรื่องแรกโดยเอาความตายเป็นเครื่องเล่น เอาชีวิตของพ่อและของตนเองเป็นเดิมพัน ผมคิดเช่นนี้ได้อย่างไร?

หลังเขียนเสร็จ ผมส่งสะเปะสะปะไปที่นิตยสารขวัญเรือน และมารู้ภายหลังจากน้องของเพื่อนที่บังเอิญอ่านเจอและเดาว่าน่าจะเป็นผมเองที่เขียน เพราะเรื่องราวและฉากสถานที่น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นผมมากที่สุด

ผมคิดและเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะเมื่อคืนวาน ได้มาเคารพศพ "ครูรักษ์ ดีณรงค์" พ่อของเพื่อนผมคนนี้ บนศาลาวัดใหม่ฝายหลวง ลับแล อุตรดิตถ์ ซึ่งก็คือวัด"น้ำใหม่"ที่มือปืนชายฉกรรจ์ผู้ซ่อนตัวอยู่ใกล้หน้าต่างชั้นสองของโรงเรียน มือถือปืนติดลำกล้องตาจับจ้องเล็งส่องไปที่ร่างของ"เชิด ชิดชอบ" พระเอกในเรื่องสั้นนั่นเอง
.........................
เรืองโรจน์ จอมสืบ/4 มีนาคม 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น