++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558

@ อาหารอะไรทำให้เกิดมะเร็ง”

@ อาหารอะไรทำให้เกิดมะเร็ง”
อาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราในกลุ่ม "แอสเปอจิลลัส" พบว่ามีอันตรายสูง ให้สารพิษที่ชื่อว่า “อะฟลาท็อกซิน” ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ และพบได้ในถั่วลิสง พริกแห้ง หอม กระเทียม เป็นต้น ดังนั้น การเลือกซื้อหรือเลือกบริโภคอาหารดังกล่าวจึงต้องมั่นใจว่าอาหารนั้นๆ แห้งสนิท บรรจุในภาชนะที่สะอาด ปิดสนิท ไม่มีเชื้อรา
อาหารที่มีไขมันสูง
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งมดลูกได้ นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันสูงยังก่อให้เกิดโรคอ้วนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง 6% ในมะเร็งทุกชนิด มะเร็งที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อมีภาวะอ้วนได้แก่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งตับ และถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ และมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาหารดิบๆ สุกๆ
เสี่ยงต่อการได้รับพยาธิใบไม้ในตับ พยาธิจะทำให้ท่อน้ำดีและตับเกิดการอักเสบ ส่งผลให้เป็นมะเร็งที่ท่อน้ำดีในตับได้ อาหารที่ปิ้งย่าง รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียม จะมีสารเคมีประเภทไฮโดรคาร์บอนซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก มะเร็งหลอดอาหารและกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งเต้านมทั้งในระยะก่อนและหลังหมดประจำเดือน โดยที่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2-3 ดริ้ง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งช่องปากและมะเร็งในหลอดอาหารมากขึ้น 2-3เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม ในสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ดริ้ง ในผู้ชาย และ 1 ดริ้ง ในผู้หญิง และการดื่มมากกว่า 3-4 ดริ้งในกลุ่มสตรีที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม กลับจะเพิ่มความเสี่ยงให้พบการลุกลามของโรคขึ้นซ้ำอีก โดยเฉพาะในกลุ่มสตรีหลังหมดประจำเดือน และกลุ่มสตรีที่มีน้ำหนักเกิน
@อาหาร“ป้องกันมะเร็ง”
เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่าและปลาจากทะเลน้ำลึก นอกจากจะมีไขมันต่ำแล้ว ไขมันที่พบในปลาเหล่านี้ยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวจำพวกโอเมก้า 3 ซึ่งควรรับประทานร่วมกับไขมันกลุ่มโอเมก้า 6 จากน้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันทั้งสองประเภทมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ
พืชตระกูลถั่ว
เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลิสง ในถั่วเหล่านี้พบว่ามีสารต้านโปรติเอสในปริมาณสูงมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ข้อมูลที่เด่นชัดคือสารไฟโตเอสโตรเจนและไอโซฟลาโวนในถั่วเหลือง ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ในถั่วยังอุดมไปด้วยกากใยที่สามารถละลายน้ำได้ ซึ่งจะช่วยในขบวนการขับถ่ายของร่างกายตามธรรมชาติ
เมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวโอ๊ต บาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวสาลี ซึ่งมีกากใยมากเป็นผลดีต่อการขับถ่าย และอุดมด้วยวิตามินและสารไฟโตเคมีคอลที่เป็นประโยชน์ต่อการชะลอความเสื่อมของร่างกาย
ชาเขียว ชาขาว
พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด และPhenolic Compound ซึ่งมีส่วนในการต่อต้านมะเร็ง เฉพาะในชาเขียวประเภทเดียว พบว่ามีสาร Catechin ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ผลไม้เบอร์รี่
เช่น ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ เชอร์รี่ เบอร์รี่สีดำ เพราะในเบอร์รี่จะมีสารต้านอนมูลอิสระในปริมาณสูง กลุ่มผักมีสี เช่น บีทรูท ผักโขม แครอท มะเขือเทศ ยิ่งมีสีเข้มมากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงว่ามีสารที่มีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยปกป้องร่างกายและยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้พืชผักในกลุ่มกะหล่ำ เช่น กะหล่ำปลี บล็อกโคลี่ กะหล่ำดอก ยังอุดมด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระเช่นวิตามินซี อี ซีเลเนียม และสารไฟโตเคมิคอลหลายชนิด เช่น Carotenoids Flavonoids Isoflavones และ Ligans นอกจากนี้ กากใยในพืชผักช่วยให้การขับถ่ายเป็นปรกติ
กลุ่มเครื่องเทศ
มาสตาร์ด พริก พริกไทย กระเทียม หัวหอม ขิงโรสแมรี่ อบเชยและเครื่องเทศอื่นๆ ที่ใช้ปรุงแต่งรส สามารถต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน จะเห็นได้ว่า “อาหาร” ที่เราบริโภคนั้น หากรู้จักเลือกรับประทานก็จะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งได้ เช่นเดียวกันหากเราเลือกรับประทานตามใจปากบ่อยๆ จนลืมคำนึงถึงผลที่จะเกิดกับร่างกาย วันหนึ่งสิ่งที่เรารับประทานเข้าไปก็จะย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายเราได้ ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการหลีกเลี่ยงโรคมะเร็งก็คือ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณพลังงานที่เหมาะสมกับความต้องการพลังงานของร่างกาย ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะควรให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองสุขภาพอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญเป็นประจำ เพราะโรคมะเร็งอาจเกิดขึ้นกับคุณได้ทุกเมื่อ และการป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการรักษา
ที่มา รพ. จุฬาภรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น