++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

ความเข้มแข็งที่แท้

ความเข้มแข็งที่แท้

ความเข้มแข็งที่แท้จริง
ไม่ใช่การสะสมความแข็งแกร่งทางกาย
แต่เกิดจากการเอาชนะความอ่อนแอทางใจ

บางทีคุณอาจสะสมความอ่อนแอทางใจ
เพิ่มขึ้นทุกวันโดยไม่รู้ตัว ด้วยอะไรง่ายๆ เช่น

รู้คิดว่าไม่น่าพูด แต่ก็รู้สึกอยากพูด
และพูดตามที่รู้สึกอยาก

รู้ผิดชอบชั่วดีว่าพูดแล้วเป็นบาป เป็นมลทิน
ก่อความเสียหายให้คนอื่น
แต่ก็รู้สึกอยากพูด และพูดตามที่รู้สึกอยาก

เคยเรียนรู้ว่าพูดแล้วเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
แต่ก็รู้สึกอยากพูด และพูดตามที่รู้สึกอยาก

ก่อนพูดอะไรไม่ดี
คุณจะรู้สึกได้ถึงแรงดันอัดอกให้อยากพูด
ไม่พูดแล้วอึดอัด
เหมือนอะไรจะทะลักออกมา
ถ้าฝืนห้ามก็คันอกคันใจ
คนส่วนใหญ่จึงไม่ทน
และปล่อยให้มันทำลายทำนบกั้น
พรั่งพรูออกมาเป็นคำพูดคำจากระทบหูคน
จึงค่อยโล่งและรู้สึกสมใจที่ได้พูด

ถ้าพูดผิดน้อย แต่รู้สึกผิดมาก
แปลว่าคุณไม่ชินกับความรู้สึกผิด
เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีคำร้ายๆผ่านปากมากนัก

ถ้าพูดผิดมาก แต่รู้สึกผิดน้อย
แปลว่าคุณชินกับความรู้สึกไม่ดีในใจ
เพราะที่ผ่านมายอมให้คำร้ายๆผ่านปากมากแล้ว

การฝึกความเข้มแข็งทางใจแบบพุทธ
อาจเริ่มจากการเลือกคำพูดในชีวิตประจำวันง่ายๆ
เริ่มจากการมีสติรู้สึกถึงแรงดันให้อยากพูดไม่ดี
ขอให้ดูทันทีว่าเมื่อใดเกิดแรงดันชนิดนี้ขึ้น
เมื่อนั้นจะเกิดกำแพงสำนึกผิดชอบ
หรือกำแพงมโนธรรมขึ้นมาขวางไว้เสมอ
อาจบอบบางหรือแน่นหนา
ขึ้นอยู่กับการสะสมที่ผ่านมาของแต่ละคน

สำคัญคือให้สังเกตว่า
หลังจากยอมพูดไม่ดี
ปล่อยให้คำแย่ๆหลุดจากปาก
คุณจะรู้สึกว่ากำแพงชนิดนั้นถูกทำลายลง
และรู้ตัวได้ทันทีว่าไม่มีภูมิต้านทานแรงกดดัน
ให้พูดอะไรแย่ๆอยู่เลย ณ ขณะนั้น

แต่หากยับยั้งได้
เอาชนะแรงกดดันให้พล่อยพูดได้
คุณจะรู้สึกถึงความหนาแน่นขึ้นของกำแพง
กลายเป็นความแข็งแรงทางใจที่เพิ่มขึ้น
รู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
สงบหนักแน่นขึ้นกว่าเดิม ทีละครั้ง ทีละหน
อีกทั้งจะไม่เก็บกด ไม่อัดอั้น
เมื่อสติเจริญพอจะสังเกตว่า
แรงดันไม่ได้เท่าเดิมตลอดเวลา
เมื่อสกัดกั้นได้ มันก็ค่อยๆแผ่วหายไปได้เอง
และแม้จะย้อนกลับมากดดันใหม่
คุณก็เอาชนะได้อีก และแผ่วหายไปเองอีก

รู้อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ยิ่งบ่อยเท่าไร ใจคุณจะยิ่งเบา
รู้สึกสะอาดขึ้นเรื่อยๆ สงบหนักแน่นขึ้นเรื่อย
จนเข้าใจเองว่า ความเข้มแข็งที่แท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร

ดังตฤณ
กุมภาพันธ์ ๕๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น